ประวัติ ของ ท้าวสมศักดิ์ (เจ้าจอมมารดาเหม ในรัชกาลที่ 4)

ท้าวสมศักดิ์ มีนามเดิมว่าเหม เกิดราวปี พ.ศ. 2382 เป็นธิดาของพระอัคนีสร (พิณ) กับแย้ม (สกุลเดิม สุวรรณทัต) มารดาเป็นน้องสาวของพระยาราชภักดี (ทองคำ สุวรรณทัต)[4][5] และเจ้าจอมมารดางิ้ว พระชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี[6] นอกจากนี้ยังเป็นญาติกับเจ้าจอมมารดาเขียน ในรัชกาลที่ 4 เมื่อนับจากฝ่ายมารดา[7][8]

เจ้าจอมมารดาเหมได้เข้าถวายตัวเป็นฝ่ายในสนองพระเดชพระคุณเป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตรัสเรียกเจ้าจอมมารดาเหมว่า "แฝดเหม"[9] และได้รับพระราชทานหีบลงยาและขันทองคำ[2] เจ้าจอมมารดาเหมประสูติการพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ (18 กรกฎาคม พ.ศ. 2405 — 11 ตุลาคม พ.ศ. 2432) เป็นต้นราชสกุลโศภางค์ ณ อยุธยา[1][3]

หลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าจอมมารดาเหมก็ยังพำนักอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงพระกรุณาแต่งตั้งให้เป็น ท้าวสุภัตติการภักดี พนักงานตรวจเครื่องวิเสทสำหรับราชการต่าง ๆ ในพระมหามณเฑียร ถือศักดินา 1,000 ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2434[10] ต่อมาเลื่อนเป็น ท้าวอินทรสุริยา ปฏิบัติงานห้องเครื่องวิเสท และตำแหน่ง ท้าวสมศักดิ์ ปฏิบัติงานว่าการพนักงานฝ่ายในทั้งปวง เป็นตำแหน่งสุดท้าย[1][4][5]

ท้าวสมศักดิ์ ป่วยเป็นโรคชรา ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 สิริอายุ 83 ปี เวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ มีประโคมกลองชนะเขียว 10 จ่าปี่ 1 หีบลองในและหีบทองประกอบนอก กับรถวอประเทียบรับศพเป็นเกียรติยศ[11]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ท้าวสมศักดิ์ (เจ้าจอมมารดาเหม ในรัชกาลที่ 4) http://bcnnon.ac.th/webnon/Load/2013/01/king22.pdf http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsI... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2434/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2447/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2454/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2454/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2465/D/...